ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่เป็น ๆ หาย ๆ คล้ายกับโรคทางกายอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเป็นระบบ พร้อมกับมีการประเมินผลและติดตามอาการเป็นระยะ ๆ เหมือนกับโรคอื่น ๆ โดยทั่วไปการดูแลรักษาโรคติดบุหรี่แบ่งได้เป็นสองวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การดูแลรักษาโดยไม่ใช้ยา และการดูแลรักษาโดยใช้ยา
การดูแลรักษาโดยไม่ใช้ยา
โดยใช้หลักการ 5D ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยจัดการอาการอยากบุหรี่ได้อย่างรวดเร็วเมื่อรู้สึกอยากสูบ เพียงจำหลักการ 5 ข้อนี้และปฏิบัติจนเป็นนิสัย ท่านก็จะสามารถควบคุมอาการถอนบุหรี่ได้อย่างง่ายดาย
1. Delay เลื่อนเวลาที่จะสูบออกไปเรื่อย ๆ
2. Deep breath หายใจลึก ๆ ยาว ๆ
3. Drink water ดื่มน้ำมาก ๆ
4. Do exercise / Do something else ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมยามว่าง
5. Destination / Don’t smoke again อย่ากลับไปสูบอีก
การดูแลรักษาโดยใช้ยา
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีการใช้ในผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และสามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จให้มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
- ยาที่มีนิโคติน ได้แก่ แผ่นแปะนิโคติน, หมากฝรั่งนิโคติน
- ยาที่ไม่มีนิโคติน ได้แก่ Brupopion, Varenicline, Nortriptyline, Clonidine
การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรและผู้สูบบุหรี่ควรลองพยายามเลิกด้วยตนเองโดยไม่ใช้ยาก่อน เนื่องจากผู้สูบสามารถเลิกบุหรี่ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วยทุกราย ทั้งนี้มีผู้สูบบุหรี่บางกลุ่มที่ไม่ควรใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ แต่ในผู้สูบบางรายที่ไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง หรือมีการติดนิโคตินสูง อาจแนะนำให้พบแพทย์และเภสัชกร เพื่อรับยาช่วยเลิกบุหรี่ได้
ที่มา:
1. สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา และรณชัย คงสกนธ์. พิษภัยและการรักษาโรคติดบุหรี่ (Toxicity & Management of Tobacco Dependence). กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์. 2552.
2. Martin T. Memorize the 5 D's To Beat Smoking Urges; 2016. [cited 2017 April 2]. Available from: https://www.verywell.com.
3. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่