เภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่

A A A

การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณเป็นอย่างมาก จากสถิติของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค รายงานว่าผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ เฉลี่ยวันละ 142 คน ชั่วโมงละ 6 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก ร่างกายเมื่อได้รับสารพิษจากบุหรี่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย

หลายคนรู้ว่าบุหรี่นั้นไม่ดี แต่มีไม่กี่คนที่รู้ว่าไม่ดีอย่างไร ?

         บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมากมายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้อัตราการตายจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการสูบบุหรี่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้สูบโดยตรงแล้ว ควันบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่ได้สูดดมควันบุหรี่เข้าไปอีกด้วย

รปภาพ1

 

สามโรคหลักที่เกิดจากการสูบบุหรี่

1. โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง --> สาเหตุอันดับต้นๆของการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

CVD


ในบุหรี่มีสารพิษจำนวนมากที่ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น ทำให้ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ มีไขมันชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และไขมันชนิดดี (HDL) ลดลง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมากที่เป็นสาเหตุของการอักเสบและแข็งตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีในควันบุหรี่ ทำให้เม็ดเลือดจับออกซิเจนได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ และหากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะทำให้สมองเสื่อม หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

> ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย มากกว่าผู้ที่ไม่สูบที่มีอายุเท่ากันถึง 5 เท่า
> สูบบุหรี่วันละ 20 มวนขึ้นไป เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก เพิ่มขึ้น 2-4 เท่า

 

  

 

 2. โรคมะเร็งปอด --> เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกปีละหลายแสนราย

Cancer

         เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต เนื่องจากการวินิจฉัยโรคนี้ในระยะเริ่มแรกยังทำได้ไม่ดี เพราะในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการ และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการของมะเร็งที่ลุกลามมากแล้ว อาการที่พบได้ เช่น ไอเป็นเลือด น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ปวดกระดูก มีอาการบวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบนจากก้อนมะเร็งกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ เป็นต้น โดยพบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดมากถึง 80-90% เพราะสารพิษในบุหรี่ทำให้เยื่อบุหลอดลมปอดเกิดการระคายเคือง และหากสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานหรือสูบบุหรี่จัด จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์หลอดลมจนเป็นเซลล์มะเร็งได้

> ผู้ที่สูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 20-30 เท่า
> ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่า คนปกติ 1.2-1.5 เท่า
> ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีชีวิตอยู่ได้หลังเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ย 6 เดือน
(80% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี)

 

 

 

 3. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง) --> โรคที่ทำให้คุณทุกข์ทรมานมากที่สุด !!!

COPD2

          โรคนี้เป็นหนึ่งในสามโรคสำคัญที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่ต่างเกรงกลัว เพราะเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานเป็นเวลานานกว่าจะเสียชีวิต เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองเกิดจากการที่เนื้อปอดหรือถุงลมเกิดการภาวะระคายเคืองและถูกทำลายจากสารพิษในควันบุหรี่ (70%) หรือสารเคมีอื่นๆ ทำปอดขาดประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน มีการสร้างเสมหะมากจึงเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ร่วมกับเยื่อบุหลอดลมหนาตัวขึ้นจนตีบแคบ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งในรายที่เป็นมากจะไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติเพราะเหนื่อยมาก จนต้องนอนอยู่กับที่และรับออกซิเจนช่วยตลอดเวลา และจะทรมานจากการหอบเหนื่อยจนกว่าจะเสียชีวิต

> เนื้อปอดหรือถุงลมที่ถูกทำลายไปแล้ว จะไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสู่ปกติได้

 

 

 

 

 

 

 ที่มา:

1. มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
2. วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ และคณะ. แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อรักษาผู้ติดบุหรี่. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2546. 53-4.
3. วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน. คู่มือประชาชนของศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์; มะเร็งปอด. Available at:
http://www.cccthai.org/l-th/index.php/2009-06-13-08-54-04. Accessed April 10, 2015.
4. แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา. จะสูดหรือดูดก็เสี่ยงมะเร็งปอด. 2010. Available at: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=654. Accessed April 9, 2015.

 

แชร์ประสบการณ์เลิกบุหรี่

Experience VDO6
Experience VDO5
Experience VDO4
Experience VDO3
Experience VDO2
Experience VDO1