การสูบบุหรี่จำนวนมาก จะทำให้คุณมีชีวิตอยู่กับคนที่คุณรักได้อีกไม่นาน สูบหนึ่งมวน เวลาชีวิตคุณก็ลดลงตามจำนวนมวนที่คุณสูบ คุณอยากให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่?
“เด็กทารกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของควันบุหรี่ จะเกิดอาการอักเสบของหูได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะหูส่วนกลาง ซึ่งนำไปสู่โรคหูน้ำหนวก”
แหล่งของควันบุหรี่ที่พบมากที่สุดสำหรับเด็ก ๆ มาจากการสูบบุหรี่ของพ่อแม่ ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ ยิ่งถ้าแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นผู้สูบบุหรี่เอง ผลเสียต่อเด็กยิ่งมากขึ้น เพราะทารกในครรภ์ใกล้ชิดกับแม่มาก
ควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อเด็ก
แหล่งของควันบุหรี่ที่พบมากที่สุดสำหรับเด็ก ๆ มาจากการสูบบุหรี่ของพ่อแม่ ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ ยิ่งถ้าแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นผู้สูบบุหรี่เอง ผลเสียต่อเด็กยิ่งมากขึ้น เพราะทารกในครรภ์ใกล้ชิดกับแม่มาก องค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่า ทุกวันนี้มีเด็กเกือบ 700 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั่วโลก หายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบ้าน
ทารกและเด็กเล็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะได้รับอันตราย ดังนี้
• สารพิษในควันบุหรี่สามารถสะสมในร่างกายเด็กได้ และมีผลอย่างมากต่อการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดในอนาคต
• การได้รับควันบุหรี่ของเด็ก ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
• ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าทารกปกติประมาณ 170-200 กรัม
• ทารกอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทและอาจเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด เพราะนิโคตินจากบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดบริเวณรกหดตัว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกลดลง ทารกจะได้รับทั้งเลือดและออกซิเจนน้อยกว่าปกติ
• ทารกอาจมีโครงสร้างของสมองไม่สมบูรณ์ อ่อนแอ และมีปัญหาในการพัฒนาการต่อไป
• มีการพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
• มีอัตราเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างสูงขึ้น ได้แก่ ทอมซิลอักเสบ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม
• เด็กที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเมื่อโตขึ้นมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ถึง 2 เท่า และถ้าในบ้านมีคนสูบบุหรี่มากกว่า 1 คน ระยะเวลาในการเกิดโรคจะเร็วขึ้น
นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองยังเป็นปัจจัยเสริมให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งการเป็นโรคปอดเรื้อรังชนิดต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น และอาจส่งผลให้มีพฤติกรรมบกพร่องเนื่องจากระบบประสาทผิดปกติ อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ของพ่อแม่จะมีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบของลูกในอนาคต โดยพบว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนสูบบุหรี่ จะมีโอกาสที่จะเป็นคนสูบบุหรี่เมื่อโตขึ้นมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทราบอันตรายที่จะเกิดเหล่านี้แล้ว มาเลิกบุหรี่ เพื่อคนที่คุณรักกันเถอะ
“อย่าให้บุหรี่มาทำลายคนที่คุณรัก”
ที่มา
1. พนิตย์ จิวะนันทประวัติ. บุหรี่ภัยเงียบของผู้หญิง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ดี.เค.โปรเซส. 2553.
2. รัศมี สังข์ทอง. มายายาสูบ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เจริญดีมั่นคงการพิมพ์. 2553.
3. Stephen Hamann และคณะ. การทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์. 2549.